ประสิทธิ์ ไชยชมพู กล้าหาญมาก ใครอื่นเขียนคำ ดึกดำบรรพ์ สื่อความหมาย การย้อนเวลายาวนานจนไม่อาจระบุศักราชได้ เขากลับใช้คำ “ดึกด้ำบรรพ์” อย่างตั้งใจ
เหตุผลสามารถสืบประวัติศัพท์วิวัฒน์ได้ยิ่งกว่า “ดำ” มีนัยเดียวกับ “แม่ด้ำ” โคตรฝ่ายแม่ “เสาด้ำ” เสาสัญลักษณ์โคตรเป็นสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง (ศัพท์สันนิษฐาน 2 ประสิทธิ์ ไชยชมพู สำนักพิมพ์ มิตรสุวัณภูมิ พ.ศ.2565)
ตำนานดึกด้ำบรรพ์พราหมณ์ ฮินดู คือตำนานกวนเกษียรสมุทร เหล่าเทวดาหลอกอสูรให้มาช่วยกวนสมุทร เพื่อจะได้น้ำอมฤตดื่มด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างเก็บงำจุดประสงค์แท้ไว้ แล้วจะชิงลงมือหักหลังกันเมื่อได้โอกาส
แต่สุดท้ายเทวดาเจ้าเล่ห์เพทุบายยิ่งกว่า จึงได้น้ำอมฤตไปฝ่ายเดียว
ประสิทธิ์แค่ใช้เรื่องเล่าเป็นทางผ่าน ไปสันนิษฐานความผันแปรของคำ…หลายท่านว่าเป็นคำแผลง ดึกด้ำบรรพ์<ตึกตบัล ซึ่งแปลว่า ตำน้ำ (ตึ๊ก หรือ ทึก น้ำ)
ตบัล=ครก เช่น ตบาล บุกสลา=ครกตำหมาก ตบาลชาน หรือตบาลเกฎือง ครกกระเดื่อง เครื่องสีข้าวด้วยมือ=ตบาลเก็น ส่วนคำไทย ตะบัน น.=ครกตำหมาก
“น่าแปลกใจ ตำนานกวนสมุทรกลายเป็นตำน้ำในภาษาเขมร”
ส่วนตำนานตำน้ำก็มีจริงๆ ขอยกเฉพาะ 2 จังหวัดในอีศานตอนล่าง มีประโยคคล้องจองว่า
“สุรินทร์กินน้ำตำ บุรีรัมย์ตำน้ำกิน”
ประสิทธิ์ ไชยชมพู อ้างเรื่องจาก ไศล ภูลี้ 2547 เล่าวิธีการตำน้ำกิน ละเอียดลออทุกขั้นตอน
ตั้งแต่สมัยตายังเป็นเด็กๆ ถึงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม ฝนไม่ตก มันแล้ง มันร้อนนัก
สมัยก่อนโน้น แถวนี้หลายๆหมู่บ้านไม่มีโอ่งเก็บน้ำฝน ถังเก็บน้ำแบบปูนซีเมนต์ในโรงเรือนก็ไม่มี น้ำสูบจากใต้ดินก็ยังไม่มี จะมีแต่สระน้ำเมืองเก่าอยู่ไกลจากนี้ออกไป ห้า-หกกิโลเมตร ต้องนั่งเกวียนเทียมวัวไป
คนไม่มีเกวียนก็ฝากหม้อดิน ไห โอ่งไปกับเกวียนของเพื่อนบ้าน
ส่วนเจ้าตัวก็เดินตามเกวียน ต้องเดินทั้งวัน บางคนไม่ได้ไปตักน้ำเพราะเกวียนเต็ม ก็ต้องรอไปคราวหน้า
ก็จะไปหาหนองน้ำแห้งขอดเป็นตม แล้วขุดหลุมใกล้บริเวณนั้นเป็นรูปทรงกลมลึกสักหนึ่งศอก จากนั้นโกยดินเลนนั้นมาใส่หลุม
ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ขนาดสองปล้อง ปลายทั้งสองเจาะรูแต่ไม่ทะลุกลางปล้อง นำมาใช้ตำดินเลนนั้นโดยละเอียด น้ำและลมดันเข้ารูกระบอกดังผล็อกๆกรู๊ดๆๆตำไปเรื่อยๆจนกระทั่งดินเลนเหลวละเอียดมีน้ำออกมา
ยังตำต่อไปอีก
ระหว่างตำยังโรยเกลือเม็ดลงใส่เป็นระยะๆ เกลือจะช่วยให้ดินตกตะกอนเร็ว
เมื่อหยุดตำจะหาไม้ไผ่มาผ่าซีกมาขัดสาน ปิดปากหลุม ปูทับด้วยเศษไม้อีกชั้น ป้องกันสัตว์ตกลงไป ทิ้งไว้คืนหนึ่ง บางคนจะนอนเฝ้าที่นั่น บางคนก็กลับนอนที่บ้าน
รุ่งเช้า ตะกอนอยู่ข้างล่าง น้ำในหลุมขุดใสขึ้น ก็จะใช้กะลาตักน้ำ ใส่ครุไม้ไผ่ยาด้วยยางไม้ หรือใส่กระบอกน้ำ หาบกลับมาบ้าน เป็นอันว่าจบกระบวนการตำน้ำ
ผมหลับตามโนความยากลำบากของการหาน้ำของคนสมัยนั้น…แล้วก็เห็นภาพจากประโยค สุรินทร์กินน้ำตำ บุรีรัมย์ตำน้ำกิน ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตัดภาพจากสมัยดึกด้ำบรรพ์มาถึงสมัยปัจจุบัน เมืองบุรีรัมย์พัฒนาก้าวหน้าโอ่อ่าอัครฐานไปเสียทุกอย่าง จนแทบจะเป็นเมืองหลวงของอีศาน ผมไม่แปลกใจ…หากคนไทยจะได้นายกฯ…จากบุรีรัมย์สักคน
จากเมืองตำนานตำน้ำกิน กลายเป็นเมืองโด่งดัง ใครๆ ก็อยากไป ผมอยากให้ คุณเนวิน ครูใหญ่ภูมิใจไทย เป็นนายกฯมากกว่าราย เสี่ยหนู อนุทิน…เป็นแค่ผู้อาศัย ไม่ใช่บุรีรัมย์ขนานแท้.
กิเลน ประลองเชิง