ถึงนาทีนี้ คงไม่ต้องพูดถึงความรุนแรงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แผ่ลามไปทั่วทุกหัวระแหง สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ
แต่หากในที่สุด ตัวเรา หรือคนใกล้ชิด คนในครอบครัวติดเชื้อ สิ่งที่ต้องคำนึงคือจะมีสถานพยาบาลที่จะรับรักษาหรือไม่ สถานที่นั้นๆ มีเตียงพอรองรับผู้ป่วยหรือไม่
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กับตัวเลขที่ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เตียงในโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพื้นที่สีแดงเข้ม ไม่พอรองรับผู้ป่วย คนต่างจังหวัดจำนวนมาก จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปรักษาที่บ้าน โดยการประสานไปยังโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุข และเครือข่ายในพื้นที่ บางจังหวัดมีรถกู้ภัย ปภ. ทหารฯ มารับ บางจังหวัดก็เช่าเหมารถกลับไปเอง
รถกู้ภัยร้อยเอ็ด รับผู้ป่วยจาก กทม.กลับรักษาบ้านเกิด
อย่างเช่นที่ จ.ร้อยเอ็ด วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดร้อยเอ็ด รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 59 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพและปริมลฑลถึง 56 ราย
สำหรับประชาชนชาวร้อยเอ็ดที่ติดเชื้อโควิด-19 ประสงค์จะเดินทางกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ประสานผ่านระบบของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด โทร. 043 518 200 ต่อ 0 ต่อ 7174 และต่อ 7175 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนร้อยเอ็ดกลับบ้าน สายด่วน 1567 หรือโทร. 043 519 427 หากท่านได้รับการยืนยัน จึงจะสามารถเดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้
แม่ทัพภาค 3 ส่งรถบัสทหาร 3 คัน รับผู้ป่วยกลับพิษณุโลก
จ.พิษณุโลก เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ก.ค. พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผวจ.พิษณุโลก สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยขบวนรถโครงการ คนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ. และ กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน เพื่อไปรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 12 คน จากกรุงเทพฯ กลับมาเข้าสู่ระบบการรักษายังภูมิลำเนา หลังจากรัฐบาลประกาศปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นระยะเวลา 1 เดือน และสถานที่รักษาในพื้นที่กรุงเทพฯ มีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ และปริมณฑล กองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดรถบัสไม่ปรับอากาศจำนวน 3 คัน จากหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 3 มาดัดแปลงทำฉากกั้นระหว่างผู้โดยสารและคนขับออกจากกัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ พร้อมรถขนส่งสัมภาระของผู้ป่วย และรถพยาบาลติดตามไปด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหากกรณีผู้ป่วยมีอาการระหว่างเดินทาง โดยผู้ป่วยทั้งหมดจะต้องเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดอุปกรณ์ในการป้องกันเจ้าหน้าที่ อาทิ ชุด PPE, เฟซชิลด์, หมวกคลุมศีรษะ, ถุงมือ, หน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และน้ำยาทำความสะอาดสถานที่ และมีการวางแผนการปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ เจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขคือกักตัว 14 วันภายในสถานกักตัวที่โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนที่จะสามารถออกมาปฏิบัติหน้าที่ในรอบต่อไปได้
สปสช.เหมารถทัวร์ส่ง 20 ผู้ป่วยกลับเมืองคอน
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.ค. ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 20 คน ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ได้ออกเดินทางจาก จ.ปทุมธานี มาที่โรงพยาบาลสิชล โดยรถทัวร์ปรับอากาศ 2 ชั้น คนขับ 2 คน แยกส่วนกันกับผู้ป่วย มีห้องน้ำในรถ เตรียมสัมภาระ อาหารไว้พร้อมตลอดการเดินทาง ส่วนค่ารถในการเดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้านครั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รับดูแลให้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันที่ อบต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายวีระพรรณ สุขะวัลลิ นายอำเภอท่าศาลา พร้อมด้วย นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ได้ปล่อยรถพยาบาลกู้ชีพ อบต.ท่าศาลา เดินทางไปกรุงเทพมหานคร เพื่อไปรับชาว อ.ท่าศาลา ที่แจ้งความประสงค์ขอเดินทางจาก กทม.กลับมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลท่าศาลา เนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่มีเตียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
คนบุรีรัมย์ไม่มีเตียงรักษา ให้กลับมาบ้านเอ๋ง
ที่ จ.บุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า ได้เตรียมโรงพยาบาลสนาม บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 จากพื้นที่แออัด ไม่มีเตียงรองรับ โดยภาครัฐและเอกชนได้เปิดโรงแรมที่พัก เพื่อช่วยเหลือ รวมแล้วกว่า 1,500 เตียง “ชาวบุรีรัมย์ที่ไม่มีเตียงรักษา ให้กลับมาบ้าน” ผวจ.กล่าว
จ.ยโสธร นายชลธี ยังตรง ผวจ.เปิดเผยว่า ได้เปิดโรงพยาบาลสนาม เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสถานที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เดินทางกลับมารักษาตัวในภูมิลำเนา สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1330 เพื่อให้ส่วนกลางรับเรื่องราวก่อนจะประสานไปแต่ละจังหวัด นอกจากนี้จังหวัดยโสธร ยังมีสายด่วน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร 045-712233 เพื่อให้คำปรึกษากับประชาชน
สำหรับจังหวัดอื่น ผู้ป่วยที่ต้องการกลับมารักษาที่บ้าน สามารถติดต่อได้ที่..
กำแพงเพชร ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์ 093-1118594 “สมาคมหน่วยกู้ภัยข่าวภาพกำแพงเพชร” โทร.086-2033460 จันทบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า 039-319690 08.00-16.00 น. (จันทร์-ศุกร์) 095-748-1031 08.00-16.00 น. (เสาร์-อาทิตย์) โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 081-9831890 08.00-17.00 น. 089-9382629 08.00-17.00 น. 091-7609716 08.00-17.00 น. นครราชสีมา ต่อสายด่วน สสจ.นครราชสีมา 08-1265-5604, 06-5119-0188 (เวลา 08.30-20.30 น.) 0-4446-5010-4 ต่อ 440 (ในวันและเวลาราชการ) สระแก้ว โทรประสานงาน 081 051 0074, 098 272 8734 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว หนองคาย รพ.หนองคาย 042-413456 ต่อ 688, รพ.ท่าบ่อ 042-431015 ต่อ 1438 รพ.โพนพิสัย 081-3803663 รพ.ศรีเชียงใหม่ 042-451135 รพ.สังคม 042-441029, รพ.สระใคร 062-9944121 รพ.เฝ้าไร่ 042-417225 รพ.รัตนวาปี 042-414824 รพ.โพธิ์ตาก 093-3563224
ขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 099-1692554, 081-2604433, 094-2891345 ประสานงานกับทีมแพทย์ก่อนเดินทาง เลย โรงพยาบาลเลย ที่ 042-862-123 ต่อ 2709 มือถือ 062-197-7501 Line ID:Referloei สกลนคร สายด่วน สสจ.สกลนคร โทร 093-328-5264 ห้ามเดินทางมาเองโดยพลการ สิงห์บุรี ศูนย์ประสานงานคนสิงห์ไม่ทิ้งกัน รพ.สิงห์บุรี 093-5035000 รพ.อินทร์บุรี 061-7416767 สายด่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 086-3188853, 036-813493 ลำปาง “ศูนย์ประสานงานรับคนลำปางกลับบ้าน” โทร 090-3311493 นครพนม สายด่วน สสจ.นครพนม โทร 082-8498155, 061-0192999 ห้ามเดินทางมาเองโดยพลการ
มหาสารคาม โทร 096-3423450 เพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ 09-1025-3596 อุตรดิตถ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร 06-4003-2126 และ 09-5312-6690 ทั้งนี้ ควรติดต่อประสานงานก่อนเดินทาง