จากข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 ส.ค. 2561 สมัยรัฐบาลคสช. ให้โอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และ ชุมพร ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กระทรวงคมนาคมในขณะนั้นรับโจทย์มาดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขต้องถูกกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง …ผ่านมากว่า 3 ปี รัฐบาลคสช.เปลี่ยนเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง มีนายกฯคนเดิม ภารกิจยังไม่ลุล่วง เพราะติดประเด็นข้อกฎหมาย การโอนสนามบินของทย.ที่เป็นทรัพย์สินเป็นของรัฐ ให้ทอท.ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถทำได้ล่าสุดพลิกตำรา เปลี่ยน…โอน เป็นให้สิทธิทอท.เข้าไปบริหารจัดการ โดย”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รมว.คมนาคมขีดเส้น..ให้ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือน ม.ค. 2565
ส่วนสนามบินเดิม 4 แห่ง คือ
อุดรธานี สกลนคร ตากและ ชุมพร ก่อนหน้านี้ บอร์ดทอท. มีมติ ปรับแผนขอรับโอนใหม่ โดยขอกระบี่ บุรีรัมย์
ตาก และอุดรธานี และสุดท้าย สนามบินตาก ก็ ถูกตัดออกไปแบบ เงียบๆ ขอรับเฉพาะสนามบินหัวกะทิ เกรดเอ
@เปิดแผนเร่งทย.เคลียร์ข้อติดขัด ปูพรมแดงต้อนรับทอท.
คมนาคม ทย. และทอท. มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งจนได้ข้อสรุปและเหตุผลว่า สนามบินกระบี่ อุดรธานีและบุรีรัมย์ มีความเหมาะสมที่จะให้ ทอท.เข้าบริหารจัดการ โดยอ้าง 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องการใช้ห้วงอากาศ (Air Space) และโครงข่ายสนามบินของประเทศในภาพรวมจะเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเห็นว่า เที่ยวบินระหว่างประเทศของทอท.จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศและทำให้สนามบินรับผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในอนาคต 2.รัฐลดภาระในการจัดสรรงบประมาณให้ทย. ในการลงทุนพัฒนาปรับปรุง สนามบิน 3. ทย.สามารถนำเงินบริจาคที่ได้จากทอท. เข้ากองทุนหมุนเวียน ทย.และนำไปใช้บริหารจัดการสนามบินที่เหลืออีก 25 แห่งได้
ส่วนเรื่องทรัพย์สินของรัฐ ที่ดินราชพัสดุ นั้น พบว่าสนามบินกระบี่ มีพื้นที่ 2,620 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่ราชพัสดุ สนามบินอุดรธานี มีพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุทั้งหมด สนามบินบุรีรัมย์ พื้นที่ ประมาณ 3,750 ไร่เป็นพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ สปก. ที่ราชพัสดุ
ซึ่งการให้ทอท.เข้าบริหาร สนามบินของทย. ในส่วนของที่ดินกรมป่าไม้ ให้ทย. ขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนกับกรมป่าไม้ใหม่ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507 จากเดิมมาตรา 13/1 เป็นมาตรา 16(1) เพื่อขยายวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างและบริหารจัดการสนามบินและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ส่วนที่ราชพัสดุ ทั้งที่ดินและอาคาร ให้ทย.ทำแผน การใช้ประโยชน์ ระยะ 30 ปี เสนอกรมธนารักษ์ เพื่อให้กรมธนารักษ์จัดผลประโยชน์ตรงกับทอท. ระยะ 30 ปี และเร่งรัดให้ทย.หารือกรมบัญชีกลางถึงความเป็นไปได้ ในการนำเงินบริจาคเข้ากองทุนหมุนเวียนของ ทย.
นอกจากนี้ ให้ทย.เร่งขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะสำหรับ สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้เรียบร้อยโดยเร็ว หลังจากนั้นก็ให้ทอท.เข้าไปบริหารจัดการแทน ได้ทันที
“ผู้ขอใบรับรองสนามบิน แต่กลับไม่ได้บริหาร…ส่วนผู้ที่จะเข้ามาบริหารไม่ได้เหนื่อยขอใบรับรองเอง …สะดวกสบาย แบบนี้มีที่ไหน!!!”
@”ศักดิ์สยาม”เชื่อฝีมือทอท.ทำกำไรเพิ่ม – ลั่นสนามบินเป็นของประเทศและทุกคน
ด้าน“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าเรื่องให้ทอท.บริหาร 3สนามบินของทย. ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนประสานกรมธนารักษ์ เรื่องค่าเช่าที่ราชพัสดุจบแล้ว เหลือหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เรื่องวิธีปฎิบัติ ซึ่งเดิมกรมธนารักษ์มอบให้ ทย.เป็นผู้ดำเนินการสนามบินในที่ดิน แต่เมื่อจะมอบให้ทอท.บริหารสนามบินนั้นแทน ทย.จะต้องมอบพื้นที่คืนกรมธนารักษ์และทอท.ไปเช่าจากกรมธนารักษ์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอครม.ได้ในเดือนม.ค. 2565 เพื่อให้ทอท.เข้าบริหารโดยเร็ว
“สำหรับ ข้องกังวลถึง สถานภาพของกองทุนหมุนเวียนทย.ไม่มีปัญหา ทางทอท.มีวิธีการที่ไม่ทำให้มีผลกระทบ มีแต่จะทำให้กองทุนได้เงินมากขึ้น แข็งแรงขึ้น เชื่อมั่นทอท.เพราะผลประกอบการของทอท.มีกำไร”
อีกทั้งเรื่องนี้เป็นนโยบาย ของนายกรัฐมนตรี ที่มองว่า อยากให้ นักเดินทางต่างประเทศสามารถเข้าถึงสนามบินภูมิภาคได้และช่วยลดความคับคั่งของสนามบินหลัก 6 แห่ง โดยเห็นว่าขณะนี้ ภาคอีสานยังไม่มีฮับ จึงมอง สนามบินอุดรธานี ว่าเหมาะสม ส่วนภาคใต้ ให้ทอท.บริหารสนามบินกระบี่ เพราะสนามบินภูเก็ตมีปัญหาแออัด
“เป็นการให้สิทธิทอท.ในการบริหาร สนามบิน ทย. สำหรับผมอยากให้เป็นความร่วมมือกัน เพราะประโยชน์สูงสุดจะอยู่ที่ประเทศไทย ไม่อยากให้บอกว่า สนามบินเป็นของใคร เพราะสนามบินเป็นของคนทั้งประเทศ ใครมีความพร้อมก็บริหารไม่ใช่ ทย.ไม่เก่ง แต่เนื่องจากเป็นราชการ ซึ่งจะมีเรื่องงบประมาณและวิธีการลงทุนแบบ มีภารกิจในการบริหารการบริการสาธารณะ ส่วนทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ได้สิทธิ์ตามอำนาจกฎหมาย ทำได้อีกแบบ และการบริการต้องมีผลกำไรด้วยอยากให้มองว่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่า “
@ ทอท.ชี้น่านฟ้าอีสานโล่ง วางแผนจัด slot บินตรง
“นิตินัย ศิริสมรรถการ”กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ระบุว่า การที่ทอท.จะเข้าบริหารสนามบิน ทย. นั้นมี 3 รูปแบบ คือ1. โอน ทำไม่ได้ เพราะทอท.เป็น บริษัทมหาชน 2.มอบสิทธิ์ในการบริหารจัดการ จะมีรายละเอียดหัวข้อที่ทอท.สามารถเข้าไปรับสิทธิ์บริหาร ภายใต้เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ เช่น ต้องลงทุนด้วยหรือไม่ และอะไรที่ให้สิทธิ์กับทอท.ซึ่งเป็นบริษัท มหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ อะไรที่ให้ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน จะต้องมีเงื่อนไข กฎเกณฑ์ในการที่ทอท.จะชำระค่าสิทธิ์กลับมาให้ทย.หรือกองทุน กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน 3. รับจ้างบริหาร ทอท.มีหน้าที่บริหารและรับค่าจ้าง ไม่ต้องลงทุนไดๆ
ซึ่งทอท.จะทำแผนการบินเพื่อให้ผู้โดยสารจากต่างประเทศ สามารถบินตรงไปที่ สนามบินอุดรธานีหรือบุรีรัมย์โดยไม่ต้องแวะผ่านกรุงเทพ นอกจากลดความแออัดของน่านฟ้าแล้ว ยังรับรายได้ค่าธรรมเนียม PSC เป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ 700 บาท จากเดิมที่ต้องแวะกรุงเทพก่อนไป อุดรธานี และนับเป็นผู้โดยสารภายในประเทศค่าPSC 100 บาท
กำไรที่เกิดขึ้น จะนำไปเจรจาเรื่องการจ่ายผลตอบแทนในการรับสิทธิ์บริหาร ซึ่งจะต้องหักในเรื่องค่าลงทุนและรูปแบบในการจ่ายข้ากองทุน
จะต้องสรุปเสนอครม.ขออนุมัติ คาดว่าจะเสนอได้ ม.ค. 2565 หลังครม.เห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนเริ่มนับหนึ่งการมอบสิทธิ์บริหาร เริ่มเข้าทำ Due Diligence คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในขณะที่ทย.จะต้องมีเวลาในการจัดการทั้งด้านบุคลากร และเครื่องมือ จะมีการถ่ายโอน หรือเออร์รี่อย่างไร มีเรื่องการออกใบรับรองสนามบิน ซึ่ง หลังจากโดนธงแดง ICAO ให้ทุกสนามบินต้องมีใบรับรอง ซึ่งทางกพท.อยู่ระหว่างดำเนินการ ทย.ก็ดำเนินการให้เรียบร้อย ก่อน
“เรื่องรายได้ที่จะเกิดขึ้น ทอท.จะต้องมีแผนเรื่อง SLOT เพื่อจัดเที่ยวบินมายังอุดร บุรีรัมย์เพื่อสร้างรายได้ จากผู้โดยสารระหว่างประเทศ จากยุโรป ไปอุดร ต้องสร้างดีมานท์ ส่วนการลงทุนอาจจะมีบางส่วน เช่น เครื่อง เอกซเรย์แบบ CT scannerไม่ใช่ AT scanner โดยทอท.สามารถนำจากสนามบินอื่นไปใช้ได้”
@ไม่การันตีรายได้กองทุนฯ ชี้โควิดกระทบ”กระบี่”จะไม่บูมเท่าเดิม
ส่วนกรณีรายได้กองทุน ทย.หลังจากให้ทอท.เข้าไปบริหารจัดการ 3 สนามบินแทนจะเป็นอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมสนามบินกระบี่ เป็นแหล่งรายได้ของทย. ที่มาหล่อเลี้ยงสนามบินภูมิภาคอื่นๆ ช่วยลดภาระงบประมาณ
นิตินัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ เพราะกว่าจะโอนเสร็จ ก็จะหมดวาระแล้ว แต่ทำโดยมองในภาพของประเทศโดยรวม ที่จะเป็นฮับ โดย อุดรธานีเป็นฮับอีสานเหนือ ส่วนบุรีรัมย์เป็นฮับอีสานใต้ ที่มีพื้นที่ห้วงอากาศว่างอยู่ ดังนั้นการโอน 2 สนามบินอีสานดังกล่าวเพื่อทำฮับ
ส่วนกระบี่ มีปัจจัยจากที่สนามบินภูเก็ตเต็มขณะที่ สนามบินพังงา (ภูเก็ตแห่งที่2) ยังไม่เกิด และเมื่อเกิดโควิด-19 กรณีการลงทุน สนามบินพังงา จะต้องพิจารณาว่าจำนวนผู้โดยสารกลับเป็นอย่างที่คาดหมายไว้เดิมหรือไม่ คุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่
ทอท.จึงมอง กระบี่ คนละตรรกะกับ อุดรธานีและบุรีรัมย์ และมองคนละมุมกับ ทย. เพราะ หลังจากนี้นอกจากจะเป็น new normal แล้วสภาพการบินจะกลับไปเท่าเดิมก่อนเกิดโควิด อีกเมื่อใด และยังมีบริบทใหม่ คือมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น การพัฒนาสนามบินเพื่อให้เป็นฮับ จึงมีความสำคัญ และต้องเชื่อมกับ ระบบขนส่งอื่น
สำหรับกระบี่ ทย.อาจจะยังมองว่า รายได้จะมีเหมือนก่อนเกิดโควิด ผู้โดยสารจะเดินทางกันมากด้วยเครื่องบิน และไม่มีรถไฟความเร็วสูง ส่วนทอท.มองตรงข้ามเลย ดังนั้น เรื่องค่าตอบแทนต้องหามาดูจุดที่ 2 หน่วย มองไม่เหมือนกันและให้นโยบาย มาตัดสิน หรือรองรับ โดยมี สคร. กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ ที่จะพิจารณาว่า สามารถทำได้หรือไม่ หากต้องการให้สถานการณ์เงินของกองทุนเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเก่า แต่ต้องมีจุดที่ทั้ง2 ฝายยอมรับร่วมกันได้และทุกเรื่อง ผมเห็นว่า ต้องมีทางออก
@เมินเสียงค้านประชาชน ภาคเอกชนในพื้นที่
ทั้งนี้ มีข้อท้วงติงอย่างกว้างขวาง ทั้งประชาชนและภาคเอกชนในจังหวัด ถึงความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมกับ ประชาชนและทย.ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานกับประชาชน เนื่องจากกระบี่ และอุดรธานี ถือเป็นสนามบิน อันดับ 1 และ2 ของทย. ที่สร้างรายได้และมีกำไรให้ทย. นำไปหล่อเลี้ยงดูแลสนามบินที่ขาดทุน ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐได้ในช่วงที่ผ่านมา
โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผลดำเนินงาน ปี2562 พบว่า สนามบินของ ทย. 28 แห่ง มีกำไร 6 แห่ง 1. กระบี่มีกำไร 374.66 ล้านบาท 2. อุดรธานี มีกำไร 47.64 ล้านบาท 3.ขอนแก่น กำไร 37.04 ล้านบาท 4. สุราษฎร์ธานี กำไร29.14 ล้านบาท 5. อุบลราชธานี กำไร 28.51 ล้านบาท 6. นครศรีธรรมราช กำไร 23.57 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานของ ทย.ปี2562 มีรายได้รวม 5,476 ล้านบาท รายจ่าย 3,227 ล้านบาท มีกำไร 2,248 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีรายได้รวม 5,185 ล้านบาท รายจ่าย 2,962 ล้านบาท มีกำไร 2,223 ล้านบาท
แนวโน้มในการดำเนินงานอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น พลิกโฉมจากเดิมที่ขาดทุน สนามบินหลายแห่งร้าง ไม่มีเที่ยวพาณิชย์ แต่หากทย. ไม่มีกระบี่และอุดรธานี สนามบินที่มีศักยภาพสูง ก็คงกลับไปสู่ภาวะผลดำเนินงานขาดทุนเหมือนเดิม
@คุ้ม/ไม่คุ้ม คนไทยจ่าย PSC เพิ่มเป็น100 บาท ส่วนทอท.บริจาคคืนกองทุนทย.หัวละ 4 บาท
เมื่อเปลี่ยนเป็นมอบความรับผิดชอบในการบริหาร และทอท.จะใช้วิธีบริจาคเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนทย. โดยคำนวณจาก ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ที่เรียกเก็บจากผู้โดยสาร อัตรา 4 บาทต่อหัว ซึ่งหากรายได้ กองทุนฯ ทย.ลดลง จนไม่พอกับรายได้ เกิดการขาดทุน คำถามคือทย.ต้องกลับไปของบประมาณมาอุดหนุน เป็นภาระงบประมาณประเทศมากกว่าเดิม…ใช่หรือไม่
ปัจจุบัน ทย.เป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ให้บริการ อำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานกับประชาขนจึงเก็บค่า PSC ผู้โดยสารภายในประเทศ 50 บาท หากให้ทอท. เข้ามาบริหาร จะเก็บเพิ่มเป็น 100 บาท เส้นทางระหว่างประเทศทย.เก็บ 400 บาท ทอท.เก็บ 700 บาท ยังไม่นับค่าบริการต่างๆ ที่สายการบินจะต้องจ่ายเพิ่มตามอัตราที่ทอท.จัดเก็บ ทั้งค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงอากาศยาน / จัดเก็บอากาศยาน (Landing/ Parking Fee) ซึ่ง ทอท.เก็บอัตราที่สูงกว่า สนามบินราชการประมาณ 2 เท่า
ทอท. เป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นจึงต้องแสวงหากำไร เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นต่างชาติ กว่า 25% รายได้ส่วนหนึ่ง จะเป็นของผู้ถือหุ้นต่างชาติ ต่างกับ ทย. ที่รายได้จะตกอยู่ในประเทศ ที่สำคัญประชาชนคนไทยได้ใช้บริการที่ไม่แพง
@รัฐเทงบไม่ต่ำกว่า 6,800 ล้านบาท พัฒนา3 สนามบิน
ทย. มีแผนลงทุนพัฒนาสนามบิน เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน ระยะ 5 ปี (ปี2561-ปี 2565) วงเงินถึง 27,248 ล้านบาท เป็นการปรับปรุงทั่วประเทศ 17 สนามบิน ซึ่งมีกระบี่ อุดรธานีและบุรีรัมย์รวมอยู่ด้วย
โดย สนามบินกระบี่ มีแผนก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังที่ 1,2 รับผู้โดยสาร จาก 4 ล้านคน/ เป็น 8 ล้านคน/ปี วงเงินลงทุน2,923 ล้านบาท ก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน 863 ล้านบาท ก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน 941.90 ล้านบาท
สนามบินบุรีรัมย์ มีโครงการต่อเติมความยาวรันเวย์ เป็น 2,900 เมตร วงเงิน 950 ล้านบาท ,ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รับ 2.6 ล้านคน/ปี วงเงิน 775 ล้านบาท และ ปี 65จะขยายลานจอดอากาศยาน กว่า 3.8 ล้านบาท มีค่าเวนคืนอีก 110 ล้านบาท
ส่วนสนามบินอุดรธานี มีการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงิน 65 ล้านบาท ปรับปรุงรันเวย์และ แท็กซี่เวย์ วงเงิน 170 ล้านบาท
โอนสนามบินไม่ง่ายเหมือนครั้งโอน ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, เชียงราย ให้ทอท.แล้ว เพราะวันนี้ สถานะของทอท.ไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐแต่ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขายหุ้น 30% ซึ่งมีต่างชาติอยู่ด้วย จึงเกิดทฤษฎี”ให้ทอท.เข้าบริหาร”
”ถาวร เสนเนียม”อดีต รมช.คมนาคมซึ่งเคยกำกับดูแล ทย.เคยระบุว่า “บริหารสนามบินต้องใช้มืออาชีพถามว่าทย.ไม่เป็นมืออาชีพหรือ? ส่วนทอท.หากอยากเข้ามาบริหารสนามบินของรัฐ ต้องดูว่ากฏหมายเปิดให้โอนได้หรือไม่ ซึ่งหากต้องการมืออาชีพ เหตุใดไม่เปิดประมูล เพราะจะได้ทั้งมืออาชีพ และรัฐได้ประโยชน์มากขึ้น และต้องฟังเสียงประชาชนภาคเอกชนในพื้นที่ด้วย
@แนะทอท.ประมูลบริหารสนามบินต่างประเทศโชว์ฝีมือ
รายงานข่าวจากผู้ประกอบการ เผยว่า ข้ออ้าง เรื่องห้วงอากาศอีสานว่างแล้ว ทอท.จัด Slot ดึงสายการบินต่างชาติบินตรงไม่แวะสุวรรณภูมิ ฟังดูดี แต่หากผู้โดยสารไม่มากพอ สายการบินที่ไหนจะบิน
ส่วนค่า PSC ที่เก็บกับผู้โดยสารขาออก ปัจจุบัน หากจะออกจากอุดรธานีไปต่างประเทศ ต้องเดินทางภายในประเทศ จากสนามบินอุดรธานี-สุรรณภูมิ ทย.เก็บ
50 บาท นำเข้ากองทุนหมุนเวียนทั้งหมด เงินนี้อยู่ในประเทศทั้งหมด ส่วนขาออกจากสุวรรณภูมิ ทอท.
เก็บ 700 บาท ซึ่งรายได้กำไรทอท.ต้องแบ่งผู้ถือหุ้นต่างชาติ ด้วย
กรณี ทอท.บริหารสนามบินอุดรธานี บินตรงไปต่างประเทศ ค่า PSC ในประเทศ หายไปทันที เหลือแค่ 700 บาททอท.ได้ ผู้ถือหุ้นทอท.ได้ แต่รายได้ที่ประเทศที่เคยได้จะหายไปเงินที่สามารถนำมาสร้างงาน สร้างรายได้กับคนในประเทศหายไปในพริบตา
ทุกวันนี้ ทอท.บริหารสนามบินโดยผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน หากมองว่าทอท.เป็นมืออาชีพสิ่งที่ทอท.ควรทำคือออกไปบริหารสนามบินประเทศอื่น เพื่อหารายได้เข้าประเทศเช่น เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หรือ พม่า ตอนนี้ให้ฝรั่งเศสสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่อยู่ไกลกว่าไทยเข้าบริหารสนามบิน … ทอท.ควรโชว์ฝีมือในเวทีนานาชาติไม่ใช่ผูกขาดเป็นเสือนอนกิน
หลายประเด็นข้อสงสัย ที่ยังไม่มีการชี้แจงหรืออธิบายอย่างชัดเจน แต่มีความพยายามรวบหัว รวบหาง ทย.ถูกมัดมือ ปิดปาก …ส่วนเสียงของประชาชน ภาคเอกชนธุรกิจในจังหวัด ถูกเมิน!!!