เมืองไทยมีวิวภูเขาสวยๆ หลายแห่ง แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศของเราก็มี “ภูเขาไฟ” ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทสิ้นฤทธิ์แล้ว โดยมีมากนับสิบแห่งและพบในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งบางแห่งในปัจจุบันยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เราสามารถไปเยี่ยมชมได้ ดังเช่นที่ “จังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์” ในแถบอีสานใต้ ที่มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วหลายแห่ง ดังที่เราจะพาไปชมกันในวันนี้ 4 แห่งด้วยกัน
เขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
ภูเขาไฟเก่าแห่งแรกถือเป็นดังสัญลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ก็ว่าได้ คือที่ “เขาพนมรุ้ง” (อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์) เป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบกรวยลาวา มีลักษณะเป็นเนินเขาอยู่โดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยที่ราบ รูปร่างเป็นเนินคล้ายหลังเต่า วางตัวเป็นแนวเหนือ-ใต้ มีหุบปล่องปะทุระเบิดกว้างประมาณ 800 เมตร และลึกประมาณ 60 เมตร มีน้ำขังตลอดปี
ที่ขอบปล่องทางทิศใต้เป็นที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้ง เทวสถานที่เดิมสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18 ก่อสร้างด้วยคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีเส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทที่ถูกออกแบบลดหลั่นกันไปตามภูมิประเทศ ไปตามเส้นทางที่มีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย ผ่านสะพานนาคซึ่งเป็นดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นำสู่องค์ปราสาทประธานที่เปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ
สำหรับตัวอาคารปราสาทประธานก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน ตามจุดต่างๆจะมีภาพสลักหินฝีมือวิจิตรประณีต นำโดย “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” รวมไปถึงภาพจำหลักหินเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่งดงามและค่อนข้างสมบูรณ์
นอกจากความงดงามอลังการแล้ว ทุกๆ ปีปราสาทหินพนมรุ้งยังมีสิ่งอันน่ามหัศจรรย์เกิดขึ้น กับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านบานประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกันได้อย่างพอดี โดยปีหนึ่งจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือ ขึ้น 2 ครั้ง ในช่วงเดือน เม.ย.และ ก.ย. ตก 2 ครั้ง ในช่วงเดือน มี.ค.และ ต.ค. นับเป็นความมหัศจรรย์และแสดงถึงความสามารถของผู้ออกแบบและสร้างปราสาทพนมรุ้งได้เป็นอย่างดี
เขาพระอังคาร จ.บุรีรัมย์
ไม่ไกลจากเขาพนมรุ้ง เป็นที่ตั้งของ “วัดเขาพระอังคาร” (อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์) ไม่ไกลจากเขาพนมรุ้ง ซึ่งตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
เขาพระอังคารนี้นี้เป็นเนินเขาฐานกว้าง เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในยุคควอเทอร์นารีเมื่อประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว หากทองจากที่สูงจะมองเห็นเป็นรูปพญาครุฑที่กำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้าหันหัวไปทางทิศใต้ โดยมีปากปล่องใหญ่อยู่ที่เขากระดูกซึ่งเป็นจุดสูงสุด เกิดจากหินหลอมละลายปะทุออกมาแล้วเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จึงพอกสะสมตัวในทางดิ่ง กลายเป็นเนินเขาสูงชันแบบ Plug Dome รอบเขากระดูกเป็นแอ่ง Caldera ซึ่งเกิดจากการทรุดถล่มของปากปล่องภูเขาไฟ โดยเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดในประเทศไทย และวัดเขาพระอังคารตั้งอยู่ตรงขอบของแอ่งนี้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 320 เมตร
ก่อนที่จะมีการสร้างวัดเขาพระอังคารขึ้นในบริเวณนี้ มีหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นพุทธสถานมาแต่โบราณ โดยได้พบโบราณวัตถุคือใบเสมาหินบะซอลต์สมัยทวารวดีซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยตั้งอยู่รอบอุโบสถ ใบเสมาเหล่านี้มีภาพสลักรูปบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 อายุประมาณ 1,300 ปี
อีกทั้งในประวัติลายแทงธาตุพนมกล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.8 มีการนำพระอังคารธาตุ (เถ้ากระดูก) ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานที่เขาลูกนี้ จนถึง พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา วุฒิโธ จึงได้มาสร้างวัดบนยอดเขา และนำพระอังคารธาตุขึ้นบรรจุในสถูปบนยอดของอุโบสถที่สร้างขึ้นโดยนำศิลปะสมัยต่างๆ มาผสมผสานกันภายในบริเวณวัด
เมื่อมาถึงยังวัดจะมองเห็นอุโบสถที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย เป็นพระปรางค์ที่มียอดเจดีย์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามมุมและซุ้มทิศต่างๆ เมื่อเข้าไปภายในกราบพระประธานก็จะได้รับบรรยากาศอันเงียบสงบ มองไปรอบๆ ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกที่มีความพิเศษคือมีตัวอักษรบรรยายเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ชาวต่างชาติที่มาเยือนได้พอเข้าใจว่าแต่ละภาพเล่าถึงเรื่องราวอะไร
บริเวณรอบๆ อุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวน 108 องค์ ตั้งเรียงรายล้อมรอบอุโบสถไว้ อีกทั้งยังมีใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดี 8 คู่ ตั้งไว้รอบๆ โบสถ์ ในวิหารหลังหนึ่งด้านข้างพระอุโบสถประดิษฐานพระคันธารราษฎร์และรอยพระพุทธบาทจำลอง
ขณะที่บริเวณลานสนามกลางแจ้งหน้าวัดมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระพุทธรูปนอน) ขนาดใหญ่ สร้างด้วยงานพุทธศิลป์รูปแบบเฉพาะตัว เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเขาอังคารให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะกัน
เขากระโดง จ.บุรีรัมย์
ใกล้กับตัวเมืองบุรีรัมย์ ก็มีภูเขาไฟเก่าที่ดับสนิทแล้วอย่าง “เขากระโดง” หรือปัจจุบันเป็น “วนอุทยานเขากระโดง” ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟให้เห็นได้ชัดเจน
เขากระโดงมีลักษณะเป็นเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน เนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่” ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า “เขาน้อย” หรือ “เขากระโดง” ทั้งสองเนินเกิดจากการทับถมของเศษหินภูเขาไฟที่ปะทุออกมา ซึ่งจากการสำรวจความหนาของชั้นลาวาจากการระเบิดของเหมืองหินพบว่า มีอายุประมาณ 3-9 แสนปี มีความหนามากกว่า 20 เมตร. ส่วนบริเวณที่เป็นขอบปล่องช่องปะทุ คือบริเวณที่เป็นหุบเขาอยู่ตรงกลางระหว่างเขาใหญ่กับเขากระโดง ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นแอ่งน้ำมีน้ำขังตลอดปี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานแขวนเพื่อชมทัศนียภาพของปากปล่องภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกได้ หรือหากอยากชมอย่างใกล้ชิดก็สามารถลงไปเดินบนทางเดินเท้าก่อด้วยหิน สามารถมองเห็นหินฟองน้ำ หรือหินลอยน้ำ กระจายอยู่โดยรอบ
บนยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 12 ม. ฐานยาว 14 ม. หันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ ในพระเศียรพระสุภัทรบพิตรยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ อีกทั้งใกล้กับองค์พระยังเป็นที่ตั้งของ “มณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง” ที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างประดิษฐานไว้ในปราสาทเขากระโดง ปราสาทหินเล็กๆ ที่เหลือเพียงกองซากหิน โดยภายหลังได้มีผู้สร้างมณฑปครอบทับไว้ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เขาพนมสวาย จ.สุรินทร์
มาที่จังหวัดสุรินทร์กันบ้าง ที่ “วนอุทยานพนมสวาย” (อ.เมือง จ.สุรินทร์) ห่างจากตัวเมืองไป 22 ก.ม. เขาพนมสวายเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟเก่า ลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ 3 ยอด คือ เขาชาย (เขาพนมเปราะ) เขาหญิง (เขาพนมสรัย) และเขาคอก (เขาพนมกรอล) ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันชาวสุรินทร์ถือว่าเขาพนมสวายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่แสวงบุญ โดยทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 จะมีประเพณีเดินขึ้นเขาพนมสวายจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นักท่องเที่ยวที่มายังเขาพนมสวายจะมาแวะกราบสักการะรูปเหมือนและอัฐิของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล เกจิแห่งเมืองสุรินทร์ที่เจดีย์หลวงปู่ดุลย์เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะขึ้นไปยังเขาทั้ง 3 ยอด
ยอดเขาที่อยู่ใกล้เจดีย์หลวงปู่ดุลย์คือ “เขาคอก” บนยอดเขาคอกเป็นศาลาอัฐมุขที่ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และใกล้ๆ กันนั้นมีศาลาเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะกันด้วย
จากนั้นขับรถต่อไปที่ “เขาชาย” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระใหญ่” หรือ “พระพุทธสุรินทรมงคล” พระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 15 ม. ความสูง 21.50 ม. โดยจะต้องเดินขึ้นบันไดไปสู่องค์พระ ซึ่งมีระฆังแขวนเรียงรายตลอดเส้นทาง ซึ่งหากนับรวมระฆังทั้งหมดมีจำนวนถึง 1,080 ใบ เลยทีเดียว ด้านบนเขายังสามารถมองเห็นร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟในอดีต
ส่วนบริเวณ “เขาหญิง” ที่อยู่ห่างออกไปนั้น เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมีสระน้ำโบราณ 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline